วันวิสาขบูชา
วัน เดือน ปี มิได้มีความสำคัญในตัวเอง นอกจากเป็นเครื่องอาศัยใช้ชีวิตของสรรพสัตว์ไปแต่ละวันแต่ละคืน โดยมีแจ้งกับมืดสลับกันไปเท่านั้นเอง ส่วนชีวิตของสรรพสัตว์จะมีความเจริญ และมีความสำคัญขึ้นมาได้มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและศีลธรรมความดีงาม ที่เจ้าของชีวิตแต่ละรายได้กระทำบำเพ็ญ สั่งสมไว้ได้มากน้อยแค่ไหนประการหนึ่ง และขึ้นอยู่กับสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษาของผู้นั้นประการหนึ่ง
วันเพ็ญเดือนหก หรือวิสาขปุรณมี ที่มีความสำคัญอย่างสูงแก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ก็เพราะเป็นวันซึ่งพระโพธิสัตว์ “สิทธัตถะ” ทรงประสูติ ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกนี้ ณ อุทยานลุมพินี พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ บรรลุโมกขธรรม ณ ควงโพธิ์ ตำบลพุทธคยา เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา และทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินานา เมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ทั้งสามกาลเป็นที่น่าอัศจรรย์ กาลสำคัญที่สุดนั้นอยู่ที่กาลตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อันเป็นสมญานามว่า “เจ้าแห่งผู้รู้” กล่าวคือพระองค์ทรงรู้ยิ่งเห็นจริงใน “อริยสัจสี่” ก่อนผู้อื่นใดในโลก มิฉะนั้นอีกสองกาลคือ ประสูติกาล และกาลดับขันธ์ของพระองค์ ก็จะไม่สู้มีความหมายเท่าใดนัก
อริยสัจ คืออะไร มีความสำคัญอย่างใด อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ เริ่มด้วยความเกิด อันมีความแก่ ความตาย ทั้งความลำบากกาย ความไม่สบายใจ และการไม่สมหวัง ติดตามมาอีกหลายประการ
สมุทัย หมายถึง ตัณหา ความทะยานอยาก อยากได้ อยากเป็น และอยากเว้นต่างๆ
นิโรธ ได้แก่ความดับตัณหาและกองทุกข์ลงโดยสิ้นเชิง
มรรค เป็นข้อปฏิบัติ ๘ ประการ เพื่อลดละสมุทัย คือ ความเห็นชอบ ความคิดชอบ การพูดชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ การระลึกชอบ การมีใจตั้งมั่นชอบ องค์มรรคทั้งหมดนี้ อาจจัดโดยสรุป ๓ ประเภท คือ ปัญญา ศีล สมาธิ ตามลำดับ
ความหมายของอริยสัจนี้ ถือเป็นกฎแห่งกรรม ที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันเป็นเหตุและผลโดยตรง ๒ คู่ ดังนี้ ทุกข์ เป็นผล สมุทัย เป็นเหตุ นิโรธ เป็นเหตุ มรรค เป็นผล
พระพุทธองค์ ทรงเจริญมรรคได้โดยสมบูรณ์ จึงทรงสามารถละสมุทัยได้หมด เมื่อสมุทัยถูกละลงได้หมด ก็ทรงกำหนดรู้ว่าสิ้นทุกข์แล้ว นิโรธความหมดตัณหา และกองทุกข์จึงปรากฏแจ้งขึ้นมาอย่างเต็มที่
พระพุทธเจ้าทรงบรรลุอริยสัจสี่ ด้วยพระปัญญาคุณอย่างยิ่ง จึงทรงมีพระบริสุทธิคุณอย่างยอด แล้วทรงมีพระกรุณาคุณอย่างเยี่ยม พระองค์ทรงประกาศพระพุทธศาสนา ตั้งแต่ทรงตรัสรู้ได้ไม่นาน จนถึงวาระสุดท้ายที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ยังทรงเตือนเหล่าสาวกมิให้ประมาทต่อสังขาร ซึ่งเป็นกำลังเสื่อมลงอยู่ทุกขณะ
ดังนั้น ผู้มุ่งจะก้าวหน้าในกุศลธรรมทั้งหลาย จงพยายามปลูกศรัทธาในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเชื่อในกฎแห่งกรรมไว้ให้มั่นคง อนึ่ง ขอให้ตั้งใจพัฒนา “พลธรรม” หรือ พลังแห่งชีวิต ๕ ประการ กล่าวคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ไว้เสมอ กำไรชีวติของท่านย่อมเป็นอันหวังได้อย่างแน่นอน
วัดกายจิตอีกทั้ง วาจา
พุทธรู้แจ้งโลกา เหนือใต้
เบญจกามคุณมักพา หมกมุ่น เมานา
พลธรรมบำเพ็ญไว้ ย่อมพ้นภัยเวร
วิสาขบูชารำลึก
พระประสูติกลางดง พงพนา
พระตรัสรู้อยู่เอกา ป่าไม้
พระนิพพานใต้พฤกษา ร่มรื่น
พระบรรลุธรรมเอกไซร้ ยิ่งด้วยมรรคผล
เพ็ญเดือนหกตกวิถีวิสาขะ ซึ่งพุทธะประสูติสุดคาดหมาย
ลุมพินีที่พนาดรชื่อจรขจาย ชนทั้งหลายไปบูชาตลอดมา
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรมประเสริฐ เป็นผู้เลิศหมดกังวลพ้นสงสาร
เดือนหกเพ็ญเป็นวันสิ้นบ่วงมาร เจดียสถานพุทธคยาเขตนาบุญ
พุทธชินสีห์ปรินิพพานวันวิสาข์ กุสินาราสถานดับใช่ลับสูญ
ชาวพุทธเราเฝ้าบูชาอย่าอาดูร ไปสร้างบุญไม่ประมาทอาจเห็นธรรม
บทนิพนธ์โดย
พระพุทธิสารสุนทร (หลวงพ่อบุญกู้ อนุวัฑฒโน)