ช่วงก่อนจะถึงวันเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า ได้พากันเดินทางไปทำบุญตามวัดต่างๆ เพื่อความเป็นศิริมงคลชีวิต และเพื่อความเจริญในการประกอบหน้าที่การงาน โดยยึดถือคติที่ว่า "กาลเข้าพรรษา ถึงเวลาที่ต้องบำเพ็ญบุญ"
การบำเพ็ญบุญก่อนเข้าพรรษา
โดย อุบาสก ตะวัน คำสุจริต
รัฐอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา
๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๐
(เผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
จังหวัดสกลนคร ในรายการตะวันธรรม)
ตามประเพณีนิยมของชาวพุทธที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณกาล ก่อนจะถึงวันอธิษฐานเข้าพรรษาประมาณหนึ่งเดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะพากันไปบำเพ็ญกุศลตามวัดต่างๆ โดยยึดถือคติที่ว่า ก่อนเข้าพรรษาถ้าได้มีโอกาสถวายผ้าป่าสามัคคี ถวายผ้าจำนำพรรษา ถวายเทียนพรรษา จะเป็นมงคลอันดียิ่งสำหรับชีวิต การบำเพ็ญบุญก่อนเข้าพรรษา มีหลายประการด้วยกัน แต่จะขอยกเป็นตัวอย่างย่อๆ ๓ ประการ ดังนี้
๑.การถวายสังฆทาน มีสบู่ ยาสีฟัน ผงซักผ้า น้ำยาซักผ้า ไฟฉาย นาฬิกา ยารักษาโรค ผ้าขนหนู กระดาษทิซซู่ หลอดไฟฟ้า ฯลฯ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่พระภิกษุสามเณรท่านจำเป็นจะต้องใช้ หรือแม้กระทั่งเครื่องครัว มีข้าวสาร อาหารแห้ง พริก น้ำปลา น้ำตาล น้ำมันพืช เป็นอาทิ
“ขอแนะการถวายสังฆทานแก่พุทธศาสนิกชนทุกท่านว่า หากพอมีเวลาบ้าง ไม่จำเป็นจะต้องไปซื้อถังสังฆทานตามห้างร้านก็ได้ โดยให้เราจัดหาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นดังกล่าวข้างต้น นำมาจัดใส่ถาดหรือถังให้ดูเรียบร้อยสวยงามจะห่อหรือไม่ก็ได้ แล้วน้อมนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์สามเณร หรือในบางคราวหากว่ามีโอกาสเวลาไปที่วัด ให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายหมั่นสังเกตตรวจตราดูว่าที่วัดนี้ท่านขาดเหลืออะไรบ้าง มีสิ่งไหนที่พระภิกษุสามเณรท่านจำเป็นจะต้องใช้หรือว่าท่านใช้อะไรเป็นประจำ แล้วจัดหาสิ่งของเครื่องใช้นั้น ทำเป็นสังฆทานถวายให้กับท่าน หรือไม่ก็ให้กราบเรียนถามพระภิกษุสามเณรภายในวัดว่า ท่านขาดเหลืออะไร ท่านมีความจำเป็นต้องใช้อะไรบ้าง แล้วนำไปถวายให้กับท่าน อันนี้ถือเป็นมหากุศลกับเรายิ่งนัก ที่กล่าวมาเช่นนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย หัดเป็นคนสังเกตการเป็นอยู่ของพระสงฆ์สามเณร ถือเป็นการทำหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนที่ดี”
๒.การถวายเทียนพรรษา คือถวายเทียนไม่ว่าจะเป็นเทียนเล่มใหญ่หรือเล่มเล็ก เพื่อให้พระสงฆ์ท่านได้ใช้จุดบูชาพระรัตนตรัย หรือหากเป็นวัดป่ากรรมฐาน ท่านจะใช้เทียนที่ศรัทธาญาติโยมนำมาถวายนั้น จุดเดินจงกรมในเวลากลางคืน พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “การถวายโคมไฟหรือถวายเทียน ชื่อว่าได้ให้แสงสว่างเป็นทาน อานิสงส์คือ จะทำให้มีดวงตาอันเลิศ มองเห็นได้ไกลสว่างไสวไม่มืดมัว ครั้นบุคคลผู้นั้นละจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะไปบันเทิงอยู่ในสวรรค์ มีรัศมีกายสว่างไสวเหมือนดวงไฟ ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน”
๓.ถวายผ้าวัสสิกสาฎก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าผ้าจำนำพรรษา หรือผ้าอาบน้ำฝน มีการจำกัดขอบเขตเวลาในการถวาย คือถวายได้เฉพาะก่อนจะเข้าพรรษาประมาณ ๑ เดือน เท่านั้น ซึ่งผ้าอาบน้ำฝนนี้พระภิกษุสามเณร ท่านใช้อาบน้ำในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษา ซึ่งเป็นหน้าฝนพอดี เรียกได้ว่าปีหนึ่งถวายได้เพียงครั้งเดียว และพระสงฆ์ท่านก็ใช้ได้เฉพาะสามเดือนในฤดูฝนนี้เท่านั้น หากพ้นฤดูฝนไปแล้ว ท่านจะอธิษฐานเป็นผ้าบริขารอย่างอื่น
การถวายผ้าอาบน้ำฝนนี้ มีความเป็นมาคือ ในสมัยพุทธกาลผ้าต่างๆ หาได้ยาก เหล่าพระสงฆ์สาวกต้องไปพิจารณาบังสุกุลเอาผ้าตามป่าช้า ที่เขาใช้ห่อศพ เก็บหาเอาผ้าที่เขาทิ้งตามกองขยะบ้าง และพระสงฆ์จะมีเฉพาะผ้าสามผืนเท่านั้น คือ สบง จีวร สังฆาฏิ เวลาพระสงฆ์จะอาบน้ำต้องเปลือยกายเท่านั้นเพราะไม่มีผ้าจะผลัดเปลี่ยน
อยู่มาวันหนึ่งนางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้เป็นเลิศในการให้ทานฝ่ายอุบาสิกา ในเพลาบ่ายนางให้คนใช้เอาน้ำปานะไปถวายพระที่วัดพระเชตวันวิหาร ก่อนจะเดินทางไปถึงที่วัดฝนเกิดตกพอดี ขณะที่ฝนกำลังตกอยู่พระสงฆ์ที่อยู่ภายในวัดได้ออกมาอาบน้ำฝน ซึ่งตรงกับเวลาที่คนใช้ของนางวิสาขามหาอุบาสิกาเดินทางมาถึงวัดพอดี และได้เห็นพระภิกษุที่กำลังเปลือยตัวอาบน้ำฝนอยู่ ฝ่ายคนใช้ของนางวิสาขามหาอุบาสิกา เกิดเข้าใจว่าที่วัดนี้คงไม่มีพระภิกษุเลยกระมังมีแต่ชีเปลือย จึงได้กลับไปรายงานนางวิสาขามหาอุบาสิกา นายของตนให้ทราบว่า “ที่วัดไม่มีพระสักองค์เดียวเลย มีแต่ชีเปลือยที่อาบน้ำฝนอยู่ในวัด” ฝ่ายนางวิสาขาก็เข้าใจว่าเมื่อที่วัดไม่มีพระอยู่ แล้วพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์จะอยู่อย่างไรเล่า จึงได้เดินทางไปวัดในทันทีพร้อมกับคนใช้ ครั้นเมื่อไปถึงที่วัดแล้วก็ไม่พบชีเปลือยตามที่คนใช้รายงาน
จึงได้เข้าไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า และเล่าเรื่องต่างๆ ตามที่คนใช้ได้เล่าให้ตนฟัง สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับนางวิสาขามหาอุบาสิกาว่า “ที่สาวใช้ของเธอเห็นนั้นไม่ใช่ชีเปลือยดอก แต่เป็นพระภิกษุที่อยู่ภายในวัดที่เปลือยตัวอาบน้ำฝน” ฝ่ายนางวิสาขามหาอุบาสิกา ครั้นฟังพระพุทธเจ้าตรัสตอบจบลง จึงได้ทูลขออนุญาตพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่ภิกษุพระสงฆ์เป็นคนแรก ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต และพระพุทธองค์ทรงตรัสพุทธดำรัสว่า “บุคคลใดมีศรัทธาถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จะมีอานิสงส์เป็นเอนกประการ”
พระพุทธองค์ทรงตรัสอานิสงส์ของการถวายผ้าเป็นทานว่า “ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ” คือบุคคลผู้นั้นจะมีผิวพรรณวรรณะผ่องใสสวยงาม ใครเห็นใครก็รัก ใครเห็นใครก็ชอบ ดังนั้นหากว่าบุคคลใด อยากจะมีผิวพรรณวรรณะผ่องใส ให้ถวายผ้าแก่พระภิกษุสงฆ์เป็นทาน
นอกจากการบำเพ็ญบุญที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ที่ชาวพุทธของเรานิยมถือปฏบัติกันมา คือ ถวายเป็นผ้าป่าสามัคคี ทั้งถวายผ้าจำนำพรรษา ถวายเทียนพรรษา และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่าถวายครั้งเดียวสมบูรณ์หมดทุกอย่างเลย
จะเห็นได้ว่าการทำบุญถวายทานทางพระพุทธศาสนานั้น มีอยู่หลายอย่างหลายประการด้วยกัน
“ผู้ให้ข้าว (อาหาร) ชื่อว่าให้ให้กำลัง
อานิสงส์ทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง”
“ผู้ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ อานิสงส์มีผิวพรรณวรรณะผ่องใสสวยงาม”
“ผู้ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข
อานิสงส์จะมีแต่ความสุขความเจริญ”
“ผู้ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ
อานิสงส์มีดวงตาอันเลิศ”
“ผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญ”
“ผู้ให้ธรรมะเป็นทาน ชื่อว่าให้อมตธรรม คือชนะการให้ทั้งปวง”
“ผู้ให้ทานในสิ่งที่ชอบใจ ย่อมได้สิ่งที่ชอบใจ”
“ผู้ให้ทานในสิ่งอันเลิศ ย่อมได้สิ่งอันเลิศ”