ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อเรื่องกรรม ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว สอนให้เคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า บุคคลผู้ลบหลู่ดูหมิ่นในสรณะทั้งสาม กรรมย่อมส่งผลให้ผู้นั้นเดือดร้อนทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า...
กรรมตำหนิพระสงฆ์ผู้ทรงศีล
ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อเรื่องกรรม ใครทำดีได้ดี ใครทำชั่วได้ชั่ว สอนให้เคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า บุคคลผู้ลบหลู่ดูหมิ่นในสรณะทั้งสาม กรรมย่อมส่งผลให้ผู้นั้นเดือดร้อนทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า
บุคคลผู้มีจิตคิดเลวทราม กล่าวตำหนิติเตียนพระสงฆ์ ย่อมพินาศย่อยยับไป ไฟใหม้บ้าน เกิดอุบัติเหตุ ขโมยขึ้นบ้าน บ้านแตกสาแหรกขาด ไร้ที่อยู่ ครอบครัวอยู่ไม่เป็นสุข มีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เพราะกรรมที่ด่าพระสงฆ์ ผู้มีจิตคิดเลวทราม ตำหนิพระสงฆ์ ย่อมเป็นคนพูดกลับกลอก พูดเชื่อถือไม่ได้ พูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ครั้นอยู่ในโลกมนุษย์ย่อมได้รับผลกรรมอันหนัก อยู่ไม่เป็นสุข มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย จิตใจร้อนรนเพราะกรรมที่ด่าพระสงฆ์ บุคคลผู้มีจิตคิดเลวทราม กล่าวตำหนิติเตียนพระสงฆ์ ย่อมหาเรื่องก่อกวนชวนทะเลาะวิวาท ขวนขวายให้พระสงฆ์อยู่ไม่ได้ ขวนขวายในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมวินัยแก่พระสงฆ์ ขวนขวายเที่ยวหาเรื่องแก่พระสงฆ์ผู้ทรงศีลธรรม ย่อมได้รับความทุกข์ร้อนวุ่นวาย การงานไม่เจริญ ค้าขายไม่รุ่งเรือง บุคคลผู้มีจิตคิดเลวทราม กล่าวตำหนิติเตียนพระสงฆ์ ย่อมหาเรื่องก่อกวนชวนทะเลาะ ให้พระสงฆ์เสื่อมจากลาภสักการะ ให้พระสงฆ์เสียชื่อเสียง ขวนขวายเพื่อความเสื่อมเสียแก่พระสงฆ์ ย่อมได้รับความทุกข์ บุคคลผู้นั้นจะพินาศฉิบหาย เพราะกรรมที่เขาก่อไว้
ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต พระพุทธองค์ทรงตรัสผลกรรมที่ตำหนิพระสงฆ์ ด่าบริภาษ ให้ร้ายแก่พระสงฆ์ ขวนขวายให้พระสงฆ์อยู่ไม่ได้ ไล่พระสงฆ์ ขวนขวายให้พระสงฆ์เสื่อมจากลาภสักการะ ให้พระสงฆ์เสื่อมเสีย บุคคลผู้นั้นย่อมมีความฉิบหาย ด้วยเหตุดังนี้
๑.ย่อมถูกโรคอย่างหนัก คือ ย่อมป่วยด้วยโรคอันหนักทำให้ถึงแก่ชีวิต
๒.ถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน
๓.เป็นผู้หลงใหลเมื่อทำกาละ คือ ตายแบบไม่รู้ตัว
๔.เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงนรก หรือหากเกิดมาเป็นมนุษย์ย่อมเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ที่ไม่มีปาก
เมื่อตายจากโลกมนุษย์ เขาผู้นั้นจะตกนรกถูกไฟเผาใหม้อยู่ชั่วกาลนาน พญายมราช กรอกน้ำเหล็กทองแดงใส่ปาก เสียบลิ้นด้วยเหล็กทองแดงแหลม ถูกไฟเผาปาก ครั้นพ้นจากนรกก็มาเกิดเป็นเปรต ครั้นพ้นจากเปรตมาเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานที่ไม่มีปาก ครั้นพ้นจากสัตว์เดรัจฉาน มาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์พูดไม่ได้ เป็นมนุษย์ปากเหม็น พูดไม่มีใครเชื่อถือ จะตายเพราะปาก นี้เป็นผลกรรมที่ตำหนิพระสงฆ์
อนึ่งแม้ผลกรรมชั่วที่พระเทวทัตกล่าวให้รร้ายแก่พระพุทธเจ้า ย่อมส่งผลแก่พระเทวทัตถึงซึ่งความพินาศตกอยู่ในนรกนานเป็นกัปป์กัลป์ ครั้นพ้นจากนรกพระเทวทัตก็จักได้รับผลกรรมนั้นแสนสาหัส จนถึงชาติสุดท้ายพระเทวทัต ที่จะได้บวชแล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ชาตินั้นพระเทวทัตก็ปากเหม็น นี่คือผลกรรมที่กล่าวตำหนิติเตียนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ในพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ เรื่องสุปปพุทธกุฏฺฐิสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสผลกรรมที่มีจิตเลวทราม คิดร้ายแก่พระสงฆ์ ตำหนิพระสงฆ์ ด่าพระสงฆ์ แม้แค่คิดก็มีผลกรรมมาก
“สุปปพุทธกัฏฐิ เป็นบุตรเศรษฐีอยู่ในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งเขาออกไปเล่นในสวน ได้เห็นพระปัจจกพุทธเจ้านามว่า “ตครสิขี” กำลังเดินบิณฑบาตไปในพระนคร ครั้นแล้วเขามีจิตคิดว่า “ใครนี่เป็นโรคเรื้อนเที่ยวไปอยู่” จากนั้นเขาถ่มน้ำลายลงพื้นเหมือนกับอาการดูถูกแล้วหลีกไป ต่อมาเขาได้สิ้นชีวิต เพราะกรรมที่เขาคิดตำหนิพระสงฆ์รูปนั้น เขาตกนรกหมกไหม้อยู่เป็นอันมาก ครั้นพ้นจากนรกแล้ว เขาได้เกิดมาเป็นมนุษย์ขัดสน เป็นคนกำพร้า เป็นคนยากไร้ และได้เกิดมาในสมัยพระพุทธเจ้าของเรา ชื่อสุปปพุทธกุฏฐิ มีความเลื่อมใสศรัทธาได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าจนวาระสุดท้ายก็ถูกวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตายคาที่ นี้เป็นผลกรรมที่กล่าวตำหนิติเตียน กล่าวให้ร้ายแก่พระสงฆ์
ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นฆราวาสญาติโยม เราควรมีความเคารพต่อพระรัตนตรัย คือ มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือกิจการงานของคณะสงฆ์ ให้การอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ให้มีความผาสุข เมื่อท่านได้รับความสะดวกแล้ว ท่านจะได้มีกำลังจิตกำลังใจในการเจริญสมณธรรม บำเพ็ญภาวนา แผ่เมตตาให้กับลูกศิษย์ลูกหา
หากมีจิตคิดระลึกได้แล้วไซร้ ยอมกลับตัวกลับใจ หันมาสนใจ หันมาเคารพนับถือในพระพุทธศาสนา ย่อมไม่มีวันสายเกินแก้ หากไม่คิดกลับใจคิดใหม่แล้วไซร้ ความเสียใจจักเกิดมีภายหลัง ในเมื่อความตายใกล้เข้ามานั้นแล
เราเป็นโยมมีศีลไม่เสมอกับพระสงฆ์ เรามีศีลห้าบริสุทธิ์ไม่ ที่อาจไปตำหนิพระสงฆ์ท่าน
เราเป็นโยมกินข้าวกี่มื้อ..พระฉันข้าวกี่มื้อ..ให้คิดใส่ตัวเราเองสิ
เราเป็นโยมมีศีลไม่บริสุทธิ์ เที่ยวกินเหล้าสุรายาเมา เราไม่มีศีลเสมอพระ
เราเป็นโยมอยากทำอะไรก็ทำได้ แต่พระท่านอยู่ในกรอบของศีลธรรม
เราเป็นโยมอยากดูอะไรก็ดูได้ แต่พระท่านดูไม่ได้ท่านอยู่ในกรอบของศีลธรรม
เราเป็นโยมเข้าบ่อนเล่นการพนัน แต่พระท่านเล่นไม่ได้ สอนให้โยมละ
ให้คิดตำหนิตัวเองว่าดีพอหรือยัง
ให้คิดตำหนิตัวเองว่ามีอะไรบกพร่องบ้าง
ให้คิดตำหนิตัวเองว่ามีศีลห้าบริบูรณ์มั้ย
ให้คิดตำหนิตัวเองว่ามีคุณธรรมประจำใจหรือเปล่า
ให้คิดตำหนิตัวเองว่าควรปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง
ถ้ายังไม่มีศีลห้า
ถ้ายังเข้าบ่อนเล่นการพนัน
ถ้ายังมีกิเลสนอนอยู่กับผัวกับเมีย
อย่าคิดไปตำหนิพระท่านเลย เพราะจะเป็นกรรมหนัก
ตำหนิพระสงฆ์ได้มั้ย?
ตำหนิได้ มิใช่ว่าไม่ให้ตำหนิพระ หากว่า
เป็นพระทุศีล
เป็นพระไม่รักษาพระธรรมวินัย
เป็นพระประพฤติไม่เหมาะสมกับสมณสารูป
จงเป็นผู้มีความเคารพนับถือในคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์
ความผาสุข ความเจริญรุ่งเรือง จักเกิดมีกับท่านทั้งหลายอย่างแน่นอน
ความสัจจ์แล เป็นวาจาที่ไม่ตาย
คนพูดไม่จริง ย่อมเข้าถึงซึ่งนรก
มนุษย์ หากไม่ลืมตัวแล้วไซร้ ย่อมเจริญ
มนุษย์ หากคิดดีแล้วไซร้ ย่อมเจริญ
มนุษย์ หากกระทำดีแล้วไซร้ ย่อมเจริญ
มนุษย์ หากมีศีลธรรมประจำใจแล้ว ย่อมเจริญ
สมบัติภายนอก อาศัยได้เท่าที่กายยังอยู่ ตายแล้วเอาไปไม่ได้
สมบัติภายนอก ไม่ตายหาเอาใหม่ได้
คนต้องการแต่คนดี แต่ไม่ยอมทำความดี
คนมีดีแต่พูด แต่ไม่ชอบทำความดี
เราเข้าวัด เข้าเพื่อวัดดูจิตดูใจของเรา
เราเข้าวัด เข้าเพื่อไปทำบุญบำเพ็ญกุศล
เราเข้าวัด อย่าเข้าไปตำหนิพระสงฆ์
พระองค์นั้นไม่ดี พระองค์นี้ไม่ดี
วัดนั้นไม่ดี วัดนี้ไม่ดี
ไปตัดคะแนนองค์นั้น ให้คะแนนองค์นี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
สรุปกรรมที่หนักในทางพระพุทธศาสนา
๑.ฆ่าบิดามารดา
๒.ฆ่าพระอรหันต์
๓.ทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ถึงเลือดห้อ
๔.ยุยงให้สงฆ์แตกกัน ยุยงให้คนแตกความสามัคคี รวมไปถึงตำหนิพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ผลกรรม
– ตกรกอเวจี
– เป็นเปรต
– เป็นสัตว์ดิรัจฉาน
– เกิดเป็นคนขัดสน ยากไร้
– ปากเหม็น
– เป็นโรคร้าย
– พินาศเพราะไฟ พินาศเพราะลม พินาศเพราะน้ำ ถูกแผ่นดินสูบ
– ทำอะไรไม่เจริญรุ่งเรือง ตกทุกข์ได้ยาก ฯลฯ
ให้ดูตัวเองว่าดีพอหรือยัง มีศีลห้าบริสุทธิ์หรือยัง
ให้ดูตัวเองว่ามีศีลบริสุทธิ์หรือยัง
ให้ดูตัวเอง ตำหนิตัวเอง โทษตัวเอง
อย่าร้อนใจเหมือนไฟลามทุ่ง
ให้เอาธรรมะชะโลมใจ แล้วจะร่มเย็นเป็นสุข
อุบาสก ตะวัน คำสุจริต
๑ ธันวาคม ๒๕๕๖
www.dhammayut.net