"โลก" คือ ที่อยู่อาศัยของมวลสรรพสิ่งทั้งหลาย "โลก" คือ ดาวหินขนาดใหญ่ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ มวลสรรพสิ่งในโลกกลมๆ ใบนี้ ล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของโลกธรรม ๘ ทั้งสิ้น แล้วอะไรคือ โลกธรรม ???? ร่วมค้นหาคำตอบ...ได้แล้ววันนี้
โลกธรรม ๘
บนโลกมนุษย์ใบนี้ คนทั้งหลายคงได้สัมผัสรู้จักกันดี “โลก” มีลักษณะกลมๆ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ตามหลักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า “โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่สาม เป็นดาวหินขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล”
ตามหลักพระพุทธศาสนา มวลสรรพสัตว์ที่เกิดมาในโลกใบน้อยๆ นี้ ล้วนมีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดน เกิดมีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เชื่อกรรม คือ การกระทำ สอนให้เชื่อเรื่องบุญเรื่องบาป ทำดีย่อมได้ดี ชีวิตมีความสุข ทำชั่วได้ชั่ว ชีวิตหมองมัวมีแต่ความทุกข์
มนุษย์ แปลว่า ผู้มีใจสูง ผู้ประเสริฐ การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นของยาก เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ได้พบพระพุทธเจ้า ก็เป็นของยาก เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาก็เป็นของยาก เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ได้รับฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เป็นของยาก ดังนั้น เหล่าท่านทั้งหลายครั้นได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว อย่าพากันประมาท ให้หมั่นสร้างคุณงามความดีไว้มากๆ ท่านทั้งหลายจะได้รับความสุขทั้งปัจจุบัน และเบื้องหน้า
โลกธรรม ๘ ประการ โลกธรรม คือ ธรรมที่มีอยู่ในโลกมนุษย์กลมๆ ใบนี้ ใครเกิดมาต้องพบต้องเจอกันทุกคน จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับกรรมเป็นผู้กำหนด ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด ต้องเจอหมดไม่มีข้อยกเว้น จะรวยจน มั่งมี ศรีสุข ขนาดไหนล้วนเป็นเพราะกรรมทั้งสิ้น ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยาม ไม่ให้ประมาทซึ่งกันและกัน แม้ในสัตว์พระพุทธเจ้าก็สอนไม่ให้เบียดเบียน ไม่ให้ประมาทเขา เกิดมาชาตินี้เป็นสัตว์ เกิดใหม่อีกทีในภพชาติต่อไป เขาอาจดีกว่าเราก็ได้ เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ (ธรรม ๓ ประการ) คือ “อนิจจัง” ความไม่เที่ยง “ทุกขัง” เป็นทุกข์ “อนัตตา” ความไม่มีตัวมีตน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปในที่สุด
จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๙๖ ในโลกวิปัตติสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้
ยศก็ดี นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวกผู้ได้สดับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้แจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลาย จงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์มีความ แปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของเขาได้ แม้ความเสื่อมลาภ แม้ยศ แม้ความเสื่อมยศ แม้นินทา แม้สรรเสริญ แม้สุข แม้ทุกข์ ย่อมครอบงำจิตของเขาได้ เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา ย่อมยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์ เขาประกอบด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ แม้ความเสื่อมลาภ แม้ยศ แม้ความเสื่อมยศ แม้นินทา แม้สรรเสริญ แม้สุข แม้ทุกข์ ย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ ไม่ยินดียศที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ ไม่ยินดีความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในนินทา ไม่ยินดีสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในทุกข์ ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาดอย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โ ทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุ กข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่า มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่อนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง”
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เสโล ยถา เอกฆโน วาเตน น สมีรติ เอวํ นินฺทาปสํสาสุ น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา ภูเขาศิลาแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะแรงลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวไปเพราะนินทา และสรรเสริญฉันนั้น”
ในโลกนี้ใครไม่ถูกนินทา ตอบแทนทุกท่านได้เลยว่า ไม่มีในโลกหรอก แม้องค์สมเด็จพระบรมครูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ยังถูกคนนินทา แล้วประสาอะไรอย่างเราๆ ท่านๆ ผู้ยังเป็นปุถุชนคนมีกิเลสหนาแน่นนี้เล่า จะไม่ถูกนินทาได้อย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อถูกนินทาแล้ว จงทำใจให้หนักแน่น ทำใจให้เหมือนแผ่นดิน แผ่นหิน ผืนน้ำ จงอย่าหวั่นไหว ใช้ความจริงเป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่จริงอย่างเขาว่าจะไปโกรธทำไม หากแม้นเป็นจริงดังเขาว่า ก็จงเก็บมาเป็นครูสอนตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ควรขอบใจเขาด้วยซ้ำที่ช่วยเตือน เมื่อเราเผลอสติ จะได้ปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ท่านทั้งหลาย จงพากันจดจำพุทธสุภาษิตนี้ให้จงดี พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต คนไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก”
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร พระปรมาจารย์ใหญ่สายกรรมฐาน องค์ท่านเมตตาสอนสานุศิษย์เสมอๆ ว่า “การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรม ไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนา มาทรมานอย่างไม่คาดฝัน การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง”
การตำหนิติเตียนเป็นของธรรมดา จงติเพื่อก่อ อย่าติเพื่อทำลาย สมัยยังเป็นสามเณรน้อย ได้อ่านบทความในหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นของปราชญ์ท่านใดจำมิได้แล้ว แต่มีความไพเราะจับใจยิ่งนัก จึงนำมาเขียนไว้เป็นคติธรรม เตือนตน เตือนจิต อยู่เสมอๆ
“ช่างกลึง ต้องอาศัย ช่างชัก
ช่างสลัก ต้องอาศัย ช่างเขียน
ช่างรู้ ต้องอาศัย ช่างเรียน
ช่างติเตียน ไม่ต้องอาศัยใคร”
ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย อย่าได้มีเวร อย่าได้มีภัย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงอยู่เป็นสุขเสมอเถิด รู้รักสามัคคี รู้ให้อภัย
อุบาสก ตะวัน คำสุจริต
รัฐอริโซน่า สหรัฐอเมริกา
๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒