"ถ้าใจเราดีแล้ว ทำอะไร๊ก็ดี ไปใหน ๆ ก็ดี ทำการงานก็ดี ทำราชการก็ดี ครอบครัวก็ดี พี่น้องก็ดี ชาวบ้านร้านตลาดก็ดี ประเทศชาติก็ดี"

อาจาโรวาท หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

๑ . บุญบาปสิ่งใด ๆ ใจถึงก่อน ใจเป็นรากฐาน ใจเป็นประธาน มันสำเร็จที่ดวงใจ

๒ . ตัวบุญคือใจสบาย เย็นอกเย็นใจ ตัวบาปคือใจไม่สบาย ใจเดือดใจร้อน

๓ . ความเจ็บไข้ได้พยาธิอาพาธโรคา เป็นของธรรมดาสำหรับสัตว์โลก

๔ . เราไม่อยากเป็นกรรมเป็นเวร เราก็ต้องตัด ตัดอารมณ์น่ะล่ะ ให้อยู่ในที่รู้ ให้กำหนดดูความรู้ อยู่ตรงใหนแล้วเราก็เพ่งอยู่ตรงนั้น

๕ . ปัญญาคือ ความรอบรู้ในกองสังขาร

๖ . กรรมทั้งหลายไม่ได้มาจากอื่นไกล มาจากกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเราเท่านี้

๗ . พุทธะคือผู้รู้ มันมีอยู่ยังงั้น มันดับไม่เป็น สูญไม่เป็น

๘ . จิตของเรามันไม่หยุด ให้มันนิ่งมันก็ไม่นิ่ง เที่ยวก่อภพน้อย ๆ ใหญ่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ภะวา ภะเว สัมภวันติ

๙ . ถ้าคนไม่ได้ทำ ไม่ได้หัด ไม่ได้ขัด ไม่ได้เกลา ที่ไหนเล่าจะมีพระอรหันต์ในโลก

๑๐ . ให้สติกำหนดที่ผู้รู้อย่าส่งไปข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวา ข้างบนข้างล่าง อดีตอนาคต กำหนดอยู่ที่ผู้รู้แห่งเดียวเท่านั้นหละ

๑๑ . พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่ใจ ในใจ

๑๒ . ลางคนวัดก็ไม่เข้า พระเจ้าก็ไม่นบ วันศีลก็ไม่ละ วันพระก็ไม่ถือ แล้วจะเอาดีมาจากไหน

๑๓ . ให้พากันพิจารณาให้มันรู้มันเห็นลงไป เชื่อมั่นลงไป เห็นจริงแจ้งประจักษ์ลงไป

๑๔ . จำไว้พุทโธ ธัมโม สังโฆ ทำอะไร ๆ ก็พุทโธ กลัวก็พุทโธ ใจไม่ดีก็พุทโธ ขี้เกียจก็พุทโธ

๑๕ . ท่านสอนให้พิจารณากรรมฐานก่อนม๊ดเวลาบวช พิจารณาเพราะเหตุใดเล่า เพื่อไม่ให้หลงถือทิฏฐิมานะอหังหาร ถือว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา มันจึงหลง

๑๖ . เราต้องปฏิบัติอย่างฝากตาย

๑๗ . ศีลห้านี้คือ ขาสอง แขนสอง ศรีษะอันหนึ่ง เรารักษาห้าอย่างนี้ ไม่ให้ไปทำโทษห้า คืออันใดเล่า ปาณานั่นก็โทษ อทินนานั่นก็โทษ กาเมนั่นก็โทษ มุสานั่นก็โทษ สุรานั่นก็โทษ พระพุทธเจ้าให้ละเว้น เวรมณีคือละเว้น

๑๘ . อยากสวยให้ถือศีล อยากรวยให้ทำทาน อยากปัญญาชาญให้ภาวนา

๑๙ . จิตของเราสงบเป็นสมาธิ มันรู้สึกเบา ส - บ๊ - า - ย เย็นอก เย็นใจ หายทุกข์ หายยาก หายลำบากรำคาญ

๒๐ . ผู้รู้ไม่ใช่ของแตกของทำลาย ของตายของดับ

๒๑ . ถ้าใจเราดีแล้ว ทำอะไร๊ก็ดี ไปใหน ๆ ก็ดี ทำการงานก็ดี ทำราชการก็ดี ครอบครัวก็ดี พี่น้องก็ดี ชาวบ้านร้านตลาดก็ดี ประเทศชาติก็ดี

๒๒ . ความสุขอันใดเสมอจิตสงบไม่มี

๒๓ . ธรรมของพระพุทธเจ้าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์นั้น อยู่ที่ตัวเราไม่ใช่ที่ไหนอื่น

๒๔ . กรรมดีกรรมชั่ว ผู้นี้เป็นผู้กำเอาเป็นผู้ทำเอา ไม่เห็นมีกรรมมาจากต้นไม้ภูเขาเลากา ไม่เห็นมีกรรมมาจากฟ้าอากาศ มาจากกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเท่านี้หละ

๒๕ . เราเกิดมามีกรรมฐานห้ามาพร้อม ทีนี้เด็กกับคนแก่ พระกรรมฐานขาดไปองค์หนึ่ง ทันตา ฟันไงล่ะเด็กมันเกิดมาฟันยังไม่เกิด พระกรรมฐานขาดไปองค์หนึ่ง คนแก่ฟันหลุดหมด พระกรรมฐานก็ขาดไปองค์หนึ่ง

๒๖ . วิธีอื่นไม่มีจะตัดบาปตัดกรรมตัดเวร นอกจากเรานั่งสมาธินี้

๒๗ . เราเป็นผู้ก่อกรรม ก่อเวร ก่อภัย ไม่มีใครก่อให้ ไม่ใช่เทวบุตรเทวธิดาสร้างให้ พี่น้องสร้างให้ บิดามารดาสร้างให้ เราสร้างเอาเอง

๒๘ . มโนกรรมคือความน้อมนึกระลึกกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะรับผลของกรรมนั้นสืบไป

๒๙ . บุญคือความสุข บุญคือความเจริญ บุญคือคุณงามความดี มันดีตรงไหนล่ะ เงินเขาก็ไม่ได้ว่าเขามีความสุข ถามดูซี่ เงินเจ้ามีความสุขไม๊ เขาเฉยอยู่ไม่ใช่เรอะ นี่หละ ถ้าใจเราไม่สงบ มันก็ไม่มีความสุขละ ถ้าใจเราไม่ดีความดีก็ไม่มีซี๊

๓๐ . อยากรู้อะไรตามที่เป็นจริง ให้น้อมเข้ามาภายใน โอปนยิโก เพราะอะไร ๆ มันเกิดจากภายใน มาจากภายใน

๓๑ . ใจเราดีแล้ว ส - บ๊ - า - ย ไม่มีภัยไม่มีเวร ไม่มีบาปไม่มีกรรม ไม่มีความชั่วช้าลามก

๓๒ . สิ่งทั้งหลายทั้งหมดเกิดจากดวงใจของเรา มโนความน้อมนึก

๓๓ . เอ้า นั่งเข้าที่ นั่งเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นั่งให้ ส - บ๊ - า - ย สบาย วางท่าวางทางให้สง่าผ่าเผย ยิ้มแย้มแจ่มใส หลับตางับปากซะ ลิ้นก็ไม่กระดุกกระดิก ให้ระลึกคำบริกรรมว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหน แล้วให้ระลึกเอาในใจว่า พุทโธ แต่คำเดียว

๓๔ . เรามาทำบุญ เราได้บุญ มันอยู่ตรงไหน บุญเป็นตัวยังไงให้มันรู้ซี่

๓๕ . สมุทัย คือ มหาสมุทร จมในมหาสมุทร คือ หลงสมมุติ

๓๖ . จงเอาพระเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ที่กราบที่ไหว้

๓๗ . เมื่อจิตสงบนิ่งแล้วเราอย่าไปหา ไปหาแล้วมันเป็นตัณหา

๓๘ . เรานั่งอยู่นี่มันเกิดกี่ภพกี่ชาติแล้ว ภเว ภวา สัมภวันติ มันเที่ยวก่อภพน้อย ๆ ใหญ่ ๆ อยู่ มันห้ามไม่ได้ เรานั่งสมาธินี้เพื่อห้ามไม่ให้เกิด

๓๙ . เราทำอย่างนี้เรียกปฏิปติบูชา บูชาพระพุทธเจ้าอย่างเลิศ อย่างประเสริฐที่สุด บุญอันใดจะเท่าเรานั่งสมาธิภาวนานี้ไม่มี

๔๐ . ถ้าหยุดหาเสียเมื่อใด มาตั้งใจปฏิบัติธรรม ก็เห็นธรรมเมื่อนั้น

๔๑ . เวลานี้เราเข้าใจอย่างอื่นว่าเป็นศาสนา ไปเรียนอย่างอื่น ไม่ใช้โอปนยิกธรรม ไม่น้อมเข้ามาหาตัวเราก็ไม่เห็นซี่

๔๒ . เพ่งดูมโน อาการสามสิบสองเพ่งให้เห็นแจ่มแจ้ง ภควา ผู้จำแนกแจกธรรม แจกเข้าแล้วมันก็ไม่มีคน อันนั้นเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นผิวหนัง เป็นตับไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารเก่า อาหารใหม่ มันไม่ใช่ตัวตนนี่ มันไม่ใช่คนนี่

๔๓ . ธรรมะแปดหมื่นสี่พันไม่ใช่อะไร รวมแล้วได้แก่ พระสูตรคือลมหายใจเข้า พระวินัยคือลมหายใจออก พระปรมัตถ์ผู้รู้ที่อยู่ข้างใน

๔๔ . แดดร้อนหรือ อากาศหนาวหรือ ถามเขาดูซี่ แดดเขาว่าร้อนไหม อากาศเขาว่าหนาวไหม เขาไม่ได้ว่าอะไรไม่ใช้เรอะ เราตังหากเป็นตัวร้อน ตัวหนาว

๔๕ . ถ้าเราทำความชั่วไว้ ธรรมนั้นก็นำเราไปทุคติ

๔๖ . ความรู้สึก เบาตนเบาตัว เบาร่างเบากาย หายทุกข์หายยาก หายความลำบาก รำคาญ ส - บ๊ - า - ย เย็นอกเย็นใจ นั่นหละความสุข

๔๗ . มันเกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น ไม่รู้จักที่เกิด ไปดับที่อื่น มันก็ไม่ดับซี่ อุปมาเหมือนดับไฟฟ้า ดับดวงนี้ดวงนั้นก็ยังอยู่ ดับดวงนั้นดวงอื่นยังอยู่ คนผู้ฉลาดดับที่หม้อแบตเตอรี่ มันก็มืดม๊ดทั่วพระนคร อันนี้ไปดับจิตดวงเดียวก็หมด ไม่ต้องไปดับตาดับหู ดับจมูกดับลิ้น ดับกายดับใจ ดับที่ใจดวงเดียวแล้วดับม๊ด เพราะทั้งหมดมันเกิดจากใจ

๔๘ . มโนความน้อมนึก ใจนึกอันไดก็เป็นยังงั้น มันนึกเอา มันน้อมไป ท่านไม่ให้น้อมไป ให้น้อมเข้ามา โอปนยิโก ท่านไม่ให้ส่งไป ให้ส่งเข้ามา

๔๙ . ความพ้นทุกข์เป็นยังไงเล่า พูดง่าย ๆ คือจิตเราไม่ทุกข์ มันก็พ้นทุกข์ จิตยังมีทุกข์อยู่ มันก็ไม่พ้นทุกข์

๕๐ . เราจะเข้าสู่สงคราม กิเกสสงคราม คืออะไรเล่า คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ เวลาเราจะดับขันธ์ให้ตั้งสติเพ่งตรงผู้รู้ เข้าถึงสมาธิคือจิตตั้งมั่น มันก็ไม่หวั่นไม่ไหวในทุกขเวทนาทั้งหลาย เวทนาก็สักแต่เวทนา สัญญาก็สักแต่ว่าสัญญา สังขารวิญญาณก็สักแต่ว่าเป็นสังขารวิญญาณ นึกถึงแต่ผู้รู้ รู้เท่าสังขารรู้เท่าวิญญาณ เรื่องมันเป็นยังงั้น

๕๑ . ร่างกายคือต้นศาสนา กว้างศอกยาววาหนาคืบนี่เอง นี่หละตู้พระธรรมแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ก็อยู่ในตู้นี้หละ

๕๒ . อกุสลัง จิตตัง อกุศลจิต คือ จิตทุกข์จิตยาก จิตวุ่นจิตวาย จิตเดือดร้อน จิตฟุ้งซ่าน รำคาญนี่ให้พิจารณาดูซี่ มันไม่ได้เกิดจากอื่น อกุศลทั้งหลายมันเกิดจากจิต

๕๓ . ให้เราเป็นผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจให้เรียบร้อย เมื่อมีความสำรวมยังงี้จะไปฆ่าคนฆ่าสัตว์ตัวโต ๆ ยังไง แม้แต่มดตัวแดงแมงตัวน้อยท่านก็ไม่ให้กระทำ ไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

๕๔ . จุติแปลว่าความเคลื่อน ภาษาเราว่าตาย แท้ที่จริงนั้น จิตวิญญาณมันไม่ใช่ของแตกของทำลาย และไม่ใช่ของสูญหาย

๕๕ . ท่านว่ามันไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช้ตัวตน จิตของเราถ้ามันเที่ยง ไม่แปรผันโยกย้ายไปมา ก็พึงพาอาศัยได้ นี่มันไม่เป็นยังงั้น บอกให้มันนิ่งมันก็ไม่นิ่ง บอกให้ไปทางนี้มันไปทางโน้น ยังงี้จึงพึ่งไม่ได้ เราจึงต้องมาพากันทำสมาธิ

๕๖ . เหมือนกะเราปลูกต้นไม้ เราต้องรักษาตันรักษาโคนมัน ใส่ปุ๋ยรดน้ำ โคนมันดีต้นมันก็ต้องดี ดอกผลไม่มีใครบังคับมันเกิดเอง ต้นมันดีดอกผลมันดี อันนี้เอาอะไรเป็นต้น คือดวงใจเป็นต้น เมื่อใจเราดีแล้ว ทำอะไรก็ดี หาอะไรก็ดี

๕๗ . เมื่อใจไม่ดีแล้ว นึกพุทโธ พุทโธ ตัดมันเสีย

๕๘ . อาทิกัลยาณัง งามเบื้องต้นคือผู้มีศีล มัชเฌกัลยาณัง งามท่ามกลางคือผู้มีสมาธิปริโยสานกัลยาณัง งามที่สุดคือผู้มีปัญญา

๕๙ . การปฏิบัติถ้าไม่ได้ทำจริง มีแต่เรียนก็ไม่รู้ พระพุทธศาสนาคือการประพฤติปฏิบัติยังน้อย การกระทำยังน้อยความรู้มันก็น้อย ความเห็นมันก็น้อยเห็นแต่เผิน ๆ

๖๐ . บางคนกลัวผีเวลาเพ่ง ผีอยู่ที่ไหนล่ะ วันหนึ่ง ๆ ฝังกี่ศพ ทีคนตายไปกลัว ทีฝังในตัวเองไม่กลัว กี่ศพล่ะวันนี้ ผีปลาทูปูเค็มผีวัวผีควาย ผีเป็ดไก่สุกร เต็มอยู่ในท้องม๊ด ทำไมไม่กลัวล่ะ

๖๑ . มันขัดตรงไหนข้องตรงไหน แก้ให้ม๊ด ชำระออกให้ม๊ด อย่าให้มีขัดอย่าให้มีข้อง อย่าให้มียุ่งยากให้มีเหยิง อย่าให้วุ่นอย่าให้วาย วางให้ ส - บ๊ - า - ย ซาบาย

๖๒ . เมื่อใจไม่ดีทำอะไรก็ไม่ดี การงานก็ไม่ดี สมัครผู้แทนก็ไม่ดี ค้าขายก็ไม่ดี ทำมาหากินก็ไม่ดี ครอบครัวก็ไม่ดี พี่น้องก็ไม่ดี ชาวบ้านร้านตลาดก็ไม่ดี ประเทศชาติก็ไม่ดี

๖๓ . เมื่อจิตเราดีทำอะไรก็ดี ค้าขายก็ดี ทำมาหากินก็ดี เล่าเรียนก็ดี ครอบครัวก็ดี ชาวบ้านร้านตลาดประเทศชาติก็ดี

๖๔ . เมื่อจิตเราคิดดีก็เป็นสุข นั่งก็สุขนอนเป็นสุข เดินเป็นสุขยืนเป็นสุข จิตสุขจิตสบาย เมื่อจิตสบายแล้วทำอะไรก็สบาย ค้าขายก็สบาย ทำราชการก็สบาย ครอบครัวก็สบาย พ่อแม่พี่น้องก็สบาย ชาวบ้านร้านตลาดก็สบาย ประเทศชาติก็สบาย

๖๕ . พุทธะคือผู้รู้ ความรู้นี้ไม่ใช่สว่างไม่ใช่แจ้ง ไม่ใช่หลง ความที่มันหลงเราก็รู้อยู่ มืดเราก็รู้อยู่ สว่างเราก็รู้อยู่ สุขมันก็รู้ทุกข์ก็รู้ยังงี้

๖๖ . ถ้าจิตเราไม่ดี ก็ทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อน หนักหน่วงง่วงเหงาหาวนอน เดือดร้อนฟุ้งซ่านรำคาญ

๖๗ . กิเลสทั้งหลายมันเกิดจากภายใน ทุกข์หลายมันเกิดจากภายใน สุขทั้งหลายมันเกิดจากภายใน

๖๘ . ให้เลือกเฟ้นหัวใจของเรา ใจมันมีมาก ใจดีใจชั่ว ใจทุกข์ใจสุข ใจนรกใจเปรต ใจสัตว์เดรัจฉานก็มี ใจใบ้ใจบ้าเสียจริตก็มี ใจหูหนวกใจตาบอด ใจกระจอกงอกง่อย ใจขี้เรื้อนกุฏฐังก็มี คนเรามีหลายใจ ใจเทวบุตรใจเทพธิดา ใจพระอินทร์ใจพระพรหม ใจท้าวพญามหากษัตริย์ก็มี ใจคนมั่งมีศรีสุขก็มี ใจเศรษฐีคหบดีก็มี ใจนายร้อยนายพันนายพลก็มี ใจจอมพลก็มี เลือกเอาซี่

๖๙ . ถ้าดวงใจไม่ยาก มันก็ไม่มีอะไรยาก สิ่งทั้งหลายเขายากอะไร๊ เขาไม่ได้ว่าอะไร เขาไม่ทุกข์ไม่ยากอะไรซักอย่าง เขาเฉยอยู่หมด

๗๐ . จิตตั้งมั่นนั้นเป็นยังไง มันไม่ได้ส่งไปข้างหน้ามาข้างหลัง ข้างบนข้างล่าง ตั้งจำเพาะอยู่ที่รู้ ความรู้อยู่ที่ไหนเราก็เพ่งดูอยู่ตรงนั้น

๗๑ . คนตายไปแล้วจะอยู่ยังไง พอขาดแป๊ปที่นี่ก็ขาดปั๊บไปติดเกาะที่ใหม่แล้ว ไม่อยู่แล้ว จะอยู่ทำไมนั่นยังงั้นหร๊อก

๗๒ . เราไม่ต้องคำนึงถึงอดีตอนาคต อดีตล่วงไปแล้ว ดีก็ดีมาแล้ว ชั่วก็ชั่วมาแล้ว อนาคตก็ยังมา ไม่ถึงทำปัจจุบันนี้ให้ดีอนาคตก็ต้องดี

๗๓ . กรรมทั้งหลายไม่ได้มาจากอื่นไกล เกิดจากใจ จากวาจา จากกายของเราเอง

๗๔ . หนังนี่สวยยังไงล่ะ อาบน้ำชำระอยู่ทุกวัน ลองไม่อาบซักห้าวันเป็นไงล่ะ สกปรกไม่ใช่เรอะ นี่หละเห็นยังงี้แล้วเราไม่หลง

๗๕ . เปรียบภายนอกเหมือนกับเราทำการทำงาน มันต้องรวมเข้ามาการงานจึงสำเร็จ อันนี้ก็จิตของเราเช่นเดียวกัน ถ้าไม่รวมเป็นมัคคสมังคี เข้าเป็นจิตดวงเดียวแล้ว มันก็เลยไม่สำเร็จ ถ้าเรารวมจิตลงในอันรู้อันเดียวแล้ว ของอันเดียวเท่านี้หละ นั่นหละสำเร็จตรงนั้น

๗๖ . สรุปหัวข้อใจความในพระพุทธศาสนา คือ กายกับใจเป็นที่ตั้งแห่งมรรคและผล

๗๗ . หากภิกษุสามเณรบวชแล้วเล่าเรียนศึกษา สำรวมสิกขาวินัยของตนเรียบร้อย รู้จักแล้วศีลของเราก็ ๒๒๗ สามเณร ๑๐ เราสำรวมยังงี้ศาสนามันก็เจริญนะซี่ เดี๋ยวนี้มันไม่เป็นยังงั้น ศาสนาเลยเสื่อมเสีย คนทั้งหลายจึงดูหมิ่น เพราะเราไม่มีศีล สมาธิ ปัญญา มีแต่ศรีษะโล้นและผ้าเหลืองว่าเป็นพระเท่านั้น

๗๘ . ปฏิบัติไว้อย่าให้มันขาดซี่ ไม่ได้มากก็ให้ได้น้อย ต้องหมั่นเข้าวัดฟังธรรมเสียก่อนจึงจะนอน ทีงานการล่ะอุตสาหะทำจนเหงื่อใหลจนเหนื่อย งานภายในของเราล่ะ เราไม่รักษา ใครจะรักษา

๗๙ . ศีลห้าท่านให้ละเว้นโทษห้าอย่าง เมื่อละเว้นแล้วอยู่ที่ไหนก็เป็นศีล ในป่าในดง อยู่ในรถในเรือก็เป็นศีล นี่มาว่ากับพระ ปาณาติปาตา พอยุงกัดก็ตบปั๊บ รับกันวันยังค่ำก็ไม่เป็นศีล

๘๐ . เราจำแนกแจกแล้วมันไม่มีคน มันมีแต่ผู้รู้เท่านั้น มันก็เป็นแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมธาตุไฟ ไปเสียแล้ว

๘๑ . ถ้าเราไม่ได้วัดดูแล้ว มันก็ไม่รู้จักว่ามันอยู่ที่ไหน สถานที่ใด ถ้าเราวัดดูแล้วเราก็รู้ว่ามันไม่ได้อยู่ที่อื่น มันอยู่กับดวงใจของเรานี่หละ ดวงใจของเราเป็นผู้ปรุงผู้แต่ง เป็นผู้ก่อภพก่อชาติ เป็นผู้ก่อกรรมก่อเวรก่อภัย เราก็มาเห็นดวงใจของเรานี่หละ แล้วก็มาแก้ที่ดวงใจเท่านี้หละ

๘๒ . ศาสนาไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่กับภูเขาเลากา ท่านบัญญัติไว้กับตัวคน คนเป็นตัวพระพุทธศาสนา

๘๓ . เมื่อใจไม่สงบ ใจไม่ดี มันก็ทุกข์ยากวุ่นวายเดือดร้อน นี่หละนำสัตว์ทั้งหลายให้ตกทุกข์ได้ยาก ในปัจจุบันและเบื้องหน้า

๘๔ . ต่อไปให้เข้าวัดฟังธรรม ฟังดูหัวใจของเรามันดีเป็นอย่างไงล่ะ คือจิตเราสงบ มันดี๊ ใจเราดีมีความสุข ความส - บ๊ - า - ย เย็นอกเย็นใจ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไม่วุ่นไม่วาย ส - บ๊ - า - ย พุทโธใจเบิกบาน ใจสว่างใจไสว ใจผ่องใส ใจสะอาดปราศจากทุกข์ ปราศจากโทษ ปราศจากภัย ปราศจากเวร ปราศจากความชั่วช้าลามก ปราศจากความทุกข์ความจน

๘๕ . เราทั้งหลายเกิดมานี้ย่อมมีความมุ่งมาดปรารถนาอยู่เป็นสามนัย นัยหนึ่งต้องการวัตถุเงินทองข้าวของมาก ๆ นัยสองต้องการรูปสวย ๆ งาม ๆ อายุยืน นัยสามต้องการมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เหตุใดจึงไม่ได้สมความปรารถนา ก็เพราะเราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ท่านได้วางข้อปฏิบัติไว้คือ มีทาน มีศีล มีภาวนา สามนัยนี้ให้พากันรู้จัก

๘๖ . ธรรมทั้งหลาย กุศลธรรม อกุศลธรรม เราทำมาทั้งหมด มิใช่เทวบุตรเทวธิดาทำให้พระอินทร์พระพรหมทำให้ ธรรมทั้งหลายไม่ได้เกิดจากท้องฟ้าอากาศ ต้นไม้ภูเขาเลากา จากบ้านจากเมืองถนนหนทาง เกิดจากดวงใจของเรา

๘๗ . ชราปิทุกขา ความเฒ่าแก่ชราคร่ำคร่าทรุดโทรมนี่หละเป็นทุกข์ ลุกก็ยากนั่งก็ยาก ทางท้องก็อยากทางปากกลืนไม่ลงกินไม่ได้ คนไม่มีฟันอยากจะกินของแข็งก็กินไม่ได้ นี่หละทุกข์ อาตมาก็ถึงแก่หมดแล้ว จะลุกแหมดังอึ๊ดจึงลุกได้ พุทโธ๊เดินไปมาเซนั่นเซนี่ โอ ทุกข์ รู้จักไหมล่ะทุกข์น่ะ ต้องเป็นยังงี้ทุกคน

๘๘ . ไม่มีตัวตนสัตว์บุคคล เราเขาอะไรซักอย่าง เราเพ่งดูซี่ มันไม่เป็นแก่นเป็นสารที่ไหนเลย ถ้าเป็นแก่นเป็นสาร ทำไมคนจึงล้มหายตายไป เป็นแก่นเป็นสารเป็นตัวเป็นตนของเรา ทำไมเป็นหวัด เป็นไอ เป็นไข้ ทำไมเป็นเป็นหนาวเป็นร้อน เป็นทุกข์เป็นยาก เพราะเหตุนี้พึงเห็นว่า มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

๘๙ . ให้มาดูรูปธรรมนามธรรม รูปธรรมคืออัตภาพร่างกายของเรานี้ นามธรรมคือดวงใจของเรา มันจะอยู่ชั้นใด ภูมิใดภพใด ดูให้มันเห็นซี่

๙๐ . ให้พากันหยุดเสาะหาธรรมเสีย จึงจะเห็นธรรม ให้ดูสิ่งที่ปรากฏอยู่ในตัวของเรา สิ่งที่รู้อยู่ในตัวของเรา สิ่งที่ปรากฏอยู่นั่นหละ ความรู้สึกอยู่ที่ไหนให้ดูตรงนั้น ให้กำหนดไว้ตรงนั้น ให้เพ่งลงตรงนั้น เพ่งดูดวงใจของเรา

๙๑ . สติวินโย สติเป็นวินัย สติคือความรู้ความระลึกได้ ความรู้อยู่ สติเป็นวินัยนำตนออกจากความชั่ว นำความชั่วออกจากตน เมื่อมีสติแล้วไม่หลง ไม่หลงก็ไม่ทำความชั่ว เราจงมากำจัดความหลงนี้ คือทำตัวให้มีสติ นั่งสมาธิก็หัดสติ พิจารณาก็หัดสติ เมื่อมีสติอยู่แล้ว เป็นผู้รู้อยู่แล้วมีวินัย

๙๒ . แต่ก่อนเราไม่มีโอกาสปฏิบัติ ว่าคากิจคาการคาบ้านคาช่อง คาลูกคาหลาน ก็เดี๋ยวนี้นั่งอยู่นี่คาอะไรเล่า มันคาดวงใจเราเท่านี้หล่ะ เรื่องมันไม่ใช่คาอื่น ให้รีบมาแก้เสียวันนี้ แก้วันนี้ได้แล้วก็ได้ม๊ด

๙๓ . ใจเราดีมีความสุขความส - บ๊ - า - ย นั่งก็สบายเบาตนเบาตัว เบาร่างเบากาย หายโรคหายภัย หายเคราะห์หายเข็ญ หายกิเลสจัญไร หายความชั่วช้าลามก หายความทุกข์ความจน

๙๔ . ใจมันทุกข์ยาก ให้หนักให้หน่วง ให้ง่วงให้เหงา ให้ทุกข์ขัดตนขัดตัว เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ ให้เกิดโรคเกิดภัย เกิดกิเลสจัญไร เกิดความชั่วช้าลามก เกิดความทุกข์ความอยากขึ้นมา

๙๕ . พยาธิปิทุกขา เกิดพยาธิ ความเจ็บไข้ได้พยาธิอาพาธโรคา เกิดขึ้นในตัวของเราแล้ว ยิ่งทุกข์หนักเข้าไปทุกที หนักเข้า ข้าวน้ำโภชนาหาร ของอะไรอร่อยก็เลยหายหมด จืดจางไปหมด ขมไปหมด จึงว่าทุกข์ว่ายาก

 

๙๖ . มรณัมปิทุกขัง ทุกข์คือความตาย มันหนักเหลือประมาณ หาที่อยู่ไม่ได้ ยกแข้งยกขาก็ไม่ได้ หนักเข้าลืมตาก็ไม่ได้ หนักเข้าหายใจก็ไม่ได้ ขาดหมดลมหายใจ ดับขันธ์ไปจุติ

๙๗ . ตาสำหรับเห็นรูป ใจเป็นผู้ว่ารูปดีรูปชั่ว รูปไม่ดีไม่ชั่ว แท้ที่จริงรูปทั้งหลายเขาไม่ได้ว่าเขาดี เขาไม่ได้ว่าเขาชั่ว เราเป็นผู้ไปว่าเอาสมมุติเอา

๙๘ . วิธีดับบาปดับกรรม ดับความชั่วทั้งหลาย ดับภัยดับเวร จะล้างบาปล้างกรรม ล้างภัยล้างเวรทั้งหลายนั่น ไม่มีวิธีอื่นนอกจากเรานั่งสมาธิ เมื่อนั่งสมาธิจิตเป็นหนึ่งแล้ว เป็นจิตอันเดียวแล้ว บาปกรรมทั้งหลายมันก็ไม่มี ภัยเวรทั้งหลายมันก็ไม่มี ความชั่วทั้งหลายมันก็ไม่มี มีแต่ความสุขน่ะซี่

๙๙ . สุขเพราะเหตุใด สุขเพราะใจสงบ ทุกข์เพราะเหตุใด เพราะใจไม่สงบ มันไปก่อกรรมก่อเวรไม่หมดซักที กรรมเก่าก็ไม่หมด กรรมใหม่ก็เติมเรื่อยไป มันจะหมดซักทีเรอะ

๑๐๐ . ให้เราเข้าวัดฟังธรรม วัดดูซิว่าจิตของเราเวลานี้อยู่ในชั้นใด ภูมิใดในภพอันใดให้รู้จักให้เรานึกพุทโธ๊ พุทโธ บริกรรมเพ่งเล็งดูจิตของเราในพุทโธ นั้น ถ้าจิตของเราเป็นกุศลมันเป็นยังไง คือมันสงบ มันไม่ส่งหน้าส่งหลัง ส่งซ้ายส่งขวา ส่งบนส่งล่าง ตั้งจำเพาะท่ามกลางผู้รู้ พุทโธ พุทโธ มันมีใจเยือกใจเย็น ใจสุขใจสบาย กายะลหุตา จิตตะลหุตา จิตเบากายมันก็เบา ไม่หนักไม่หน่วง ไม่ง่วงไม่เหงา หายทุกข์หายยาก หายความลำบากรำคาญ สบายอกสบายใจ นั่นหละตัวบุญตัวกุศลแท้

๑๐๑ . เราทั้งหลายมาอย่างนี้ ก็ต้องการแสวงหาที่พึ่งอันแท้จริงของตน เราจะเอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่งในสามโลกนี้ ไม่มีสิ่งอื่นนอกจากพุทโธ ธัมโม สังโฆ เท่านี้หละมีเท่านี้ ให้พึงรู้พึงเข้าใจ

๑๐๒ . ให้พากันพึงรู้พึงเห็นในทุกข์ ท่านว่า ชาติปิทุกขา เกิดเป็นทุกข์ ขดอยู่ในครรภ์มารดาตั้งสิบเดือน ติงตัวก็ไม่ได้ เหลียวซ้ายแลขวาก็ไม่ได้ มืดมิดเป็นโลกันตะนรก ไม่เห็นอะไรซักอย่าง ไม่เห็นฟ้าเห็นอากาศ ตอนหลุดออกจากครรภ์มารดา ท่านเปรียบเหมือนกับตกเหวร้อยช่วง

๑๐๓ . ดูสิ่งเหล่านี้เป็นคนหรืออะไร ให้มารู้จักนะ รู้จักโม หัวใจตัวเรามันจึงจะรักษาได้ เราไม่เห็นนะ ไม่เห็นโมแล้ว หัวใจตัวเราก็รักษาไม่ได้ มันก็ทะเยอทะยานในรูปในเสียง ในกลิ่นในรส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์ทั้งหลาย

๑๐๔ . อาการบาปเป็นยังไง คือเราประพฤติไม่ดีทำไม่ดี มันให้ทุกข์ให้โทษแก่เรา มันให้เจ็บให้ปวด ให้เป็นทุกข์เป็นยาก เป็นลำบากรำคาญ ให้อดให้จน ให้เป็นใบ้เป็นบ้า หูหนวกตาบอด ปากกืกกระจอกงอกง่อย ขี้ทูดกุฏฐัง ตกระกำลำบาก ทำมาหากินไม่พอปากพอท้อง ข้าวขาดแลงแกงขาดหม้อ เสื้อขาดหน้าผ้าขาดหลัง นี่หละตัวบาป

๑๐๕ . รู้จักว่าเหนื่อยก็หยุดซี่ เปรียบเหมือนเราทำงาน รู้จักว่าเหนื่อยแล้วก็หยุด อุปมาภายนอกอย่างนั้น รู้จักทุกข์ก็หยุด อย่าไปก่อกรรมก่อเวรก่อภัยต่อไป หยุดนิ่งให้มันว่างม๊ด พอจิตสงบนิ่งได้แล้ว จิตตะลหุตา จิตก็เบา กายะลหุตา กายก็เบา จิตตะมุทุตา จิตมันอ่อนนิ่มนวล อิ่มอกอิ่มใจ ส - บ๊ - า - ย นั่นหละพ้นทุกข์ตรงนี้หละ

๑๐๖ . คนเดี๋ยวนี้ไม่มีศรัทธาความเลื่อมใส เพราะไม่รู้จักบาปบุญ ไม่เห็นตัวมัน ทำบาปก็ไม่เห็นตัวบาป ทำบุญก็ไม่เห็นตัวบุญมันเป็นยังไง ตัวบาปตัวบุญคือ ตัวเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้เองหละ ไม่ใช่อื่นไกลศรีษะดำ ๆ คอกิ่ว ๆ คือคนนี้หละตัวบาปตัวบุญ

๑๐๗ . ศาสนาท่านไม่ได้หมายอื่นเป็นศาสนา ในโอวาทปาฏิโมกข์ ท่านให้ละความชั่วทำความดี ทั้งกาย วาจา และดวงใจ ท่านไม่ได้ว่าอื่นเป็นศาสนา ผู้ใดมาชำระดวงใจให้ผ่องใส เอตังพุทธานสาสนัง นั่นเป็นศาสนา สมาธิคือจิตตั้งมั่น นายช่างเขาตั้งเสาเขาตั้งยังไง เขาตั้งแล้วเขาก็มองดูข้างหน้าข้างหลัง เอาระดับจับดูมันเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันเอนเอียงไปข้างไหน เขาก็ผลักขึ้นมาแล้วเขาก็เล็งดูจนมันเที่ยงตรง เขาก็ฝังไว้ให้มันแน่น นี่เรียกว่า “ ฐีติภูตัง” เราก็ตั้งใจของเราให้มันเป็นของเที่ยง วิญญาณของเรามันไม่เที่ยง เดี๋ยวนี้เราก็ต้องให้มันเที่ยง มันจึงจะเป็นพระนิพพานได้ เรื่องมันเป็นยังงั้น

๑๐๘ . นิมนต์พระไปชักบังสุกุลว่าชักให้คนตาย แท้ที่จริงน่ะให้พวกเราดู แต่ก่อนเขาก็เป็นเหมือนอย่างเรานี่หละ ห่วงนั่นห่วงนี่คานั่นคานี่ มาเดี๋ยวนี้ตายแล้วเป็นอย่างไรล่ะ ไม่คาอะไรซักอย่าง เคยว่าเจ็บว่าปวด ยุงกัดก็ตีปวดนั่นปวดนี่ ทีนี้เอาไปเผาไม่เห็นว่าอะไรเลย ไม่เห็นอุ้ยซักคำเดียว แข้งขาหูตาจมูกเขาก็มีครบเหมือนเราหมด ดูซี่พวกเราทั้งหลายมันต่างกันตรงไหน

๑๐๙ . อาการสามสิบสองนี้มันเป็นแต่อาการ มันเป็นคนที่ไหนเล่า ปิตตังน้ำดียังงี้ เสมหังน้ำเสลดยังงี้ บุพโพน้ำเหลืองยังงี้ โลหิตังน้ำเลือดยังงี้ เป็นคนที่ไหนเล่า จะไปหลงยังไงน้ำเหล่านี้ไม่ใช่เป็นของเรา เป็นของทิ้งทั้งหมดไม่ใช่เหรอ ถ้ามันเห็นยังงี้มันก็ละสักกายทิฏฐิได้ มันก็ถอนอุปทานขันธ์ได้เอง ท่านจึงบอก เอหิปัสสิโก จงร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ท่านไม่ให้ไปดูธรรม ให้มาดูธรรม คือมาดูรูปธรรมนามธรรมที่ตัวเรานี่หละ

๑๑๐ . มิใช่อื่นสุขมิใช่อื่นทุกข์ จิตของเราเป็นผู้สุขผู้ทุกข์ เราก็ดูซิเวลานี้เห็นอะไรสุขซักอย่าง เห็นอะไรทุกข์ซักอย่างในโลกนี้ หรือว่าต้นไม้ภูเขาเลากาเขาเป็นทุกข์ หรือว่าฟ้าอากาศเขาเป็นทุกข์ หรือข้าวน้ำโภชนาหารเขาเป็นทุกข์ หรือบ้านช่องเป็นทุกข์ อะไรเป็นทุกข์พิจารณาดูซิ

๑๑๑ . เมื่อเราเห็นจริงยังงี้แล้ว เราก็ละได้วางได้ จาโคปฏินิสัคโคมุตติอนาลโย คือความสละ ความละความวาง จิตมันก็ว่างเบาตนเบาตัว เบาร่างเบากาย หายทุกข์หายยากน่ะซี่ นี่หละข้อสำคัญให้พากันเข้าใจ

๑๑๒ . ให้พากันเข้าวัดนะ วัดดูจิตใจของเรา ต้องวัดเสมอ นั่งก็วัดนอนก็วัด เดินยืนก็วัด วัดเพราะเหตุใด ให้มันรู้ไว้ว่าจิตเรามันดีหรือไม่ดี ไม่ดีจะได้แก้ไข ต้องวัดทุกวัน ตัดเสื้อผ้าก็ยังวัดไม่ใช่เรอะ ไม่วัดจะใช้ได้อะไรล่ะ

๑๑๓ . ต้องนั่งพิจารณาดูให้มันรู้มันเห็น ไม่ต้องไปหาที่ไหนนะ ให้ดูสิ่งที่มีอยู่ในใจเรานี่หละ มันมืดหรือมันสว่าง นี่หละอัตตะโนนาโถ เป็นที่พึ่งของตนแท้

๑๑๔ . ญาติโยมว่าศาสนาอยู่กับพระ พระว่าศาสนาอยู่กับพระพุทธเจ้า เลยพากันทอดธุระม๊ด ข้อนี้ให้รู้จัก ตัวเราคือตัวพระพุทธศาสนา

๑๑๕ . มันสงสัยอยู่เลยละไม่ได้ จิตมันเลยวุ่นวาย วนเวียนอยู่เวียนตายเวียนเกิด ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ไม่รู้สักกี่กัปกี่กัลป์อนันตชาติ

๑๑๖ . สมมุติว่าเราไปฆ่าเขา เขาจะดีใจไหม เขามาฆ่าเราล่ะ เราจะดีใจไหม พิจารณาดูซี่ข้อนี้ เราไม่ต้องการอย่างนั้นเราก็ต้องไม่ทำ เมื่อเราไม่ได้ทำอย่างนั้น โทษทั้งหลายมันก็ไม่มี เกิดมาเราก็อายุยืนนาน ไม่ตายพลัดพรากจากกัน ไม่ตายแต่น้อยแต่หนุ่ม

๑๑๗ . คนไม่มีความรู้แล้ว อุปมาเหมือนคนตายเห็นไม๊ล่ะ จิตวิญญาณไม่มีแล้วเหลือแต่ธาตุสี่ มันเลยพึ่งอะไรไม่ได้

๑๑๘ . คนว่า ทุกวันนี้ศาสนาหมดคราวหมดสมัย พระอรหันต์ก็ไม่มี มรรคผลไม่มีเสียแล้ว คนเข้าใจอย่างนั้นเสียมาก หมดคราวหมดสมัย แท้ที่จริงในธรรมคุณท่านบอกว่า อกาลิโก ไม่เลือกกาลเลือกเวลาเลือกฤดู ได้ผลอยู่เสมอ ธรรมะทั้งหลายมันหมดไม่เป็น เพราะว่าธรรมทั้งหลายไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล ตัวของเรานี้เป็นธรรม มรรคผลการที่ไม่มี เพราะอาศัยคนไม่ปฏิบัติ เมื่อคนไม่ปฏิบัติแล้ว ก็เลยไม่มีมรรคไม่มีผล ถ้าคนยังปฏิบัติอยู่ มรรคผลมันก็มีอยู่ตราบนั้น ถ้าคนไม่ปฏิบัติแล้ว ก็จะเอามรรคมาจากไหนเล่า มรรคคือการกระทำ เมื่อเรากระทำแล้วก็จะได้รับผล นี่ไม่ได้กระทำแล้วจะเอาผลมาจากไหนล่ะ ท่านจึงบอกว่า อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา แท้ที่จริงธรรมทั้งหลายมีแต่ไหนแต่ไรมา มันมีอยู่อย่างนั้น

๑๑๙ . หัวข้อใจความในพระพุทธศาสนา คือกายกับใจนี้ เป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา เป็นที่ตั้งแห่งคุณพระพุทธเจ้า เป็นที่ตั้งแห่งพระธรรม เป็นที่ตั้งแห่งพระสงฆ์ เป็นที่ตั้งแห่งมรรคและผล

๑๒๐ . นี่ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมเข้าไว้ในจิตดวงเดียว เอกัง จิตตัง ให้จิตเป็นของเดิม จิตตัง ความเป็นอยู่ ถ้าเราน้อมเข้าถึงจิตแล้ว ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ถ้าเราไม่รวมแล้วมันก็ไม่สำเร็จ ทำการทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ต้องรวมถึงจะเสร็จ ถ้าไม่รวมเมื่อไรก็ไม่สำเร็จ

๑๒๑ . ท่านมหาบพิตร ท่านก็เห็นเราทั้งหลายมีความดี มีความใจดี มีความสุขความสบาย ท่านก็ได้รับความสุขความสบาย เหมือนกับบิดามารดา ลูกไม่ดีบิดามารดาก็เป็นทุกข์ ถ้าลูกดีบิดามารดาก็เป็นสุข

๑๒๒ . ประเทศชาติของเราจะอยู่ได้ อาศัยคุณงามความดี นี่เรื่องมันเป็นอย่างนั้น อย่าให้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดเป็นชอบ ประกอบเหมือนแมงเม่าเห็นไฟ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือเรานั่งดูแหละ สัมมาแปลว่าความชอบ เราทำแล้วชอบอกชอบใจ ดีอกดีใจ ได้รับความเบิกบาน ได้รับความสุขความสบาย ไม่วุ่นวายเดือดร้อน นี่เรื่องมันเป็นอย่างนี้ นำความสุขความเจริญให้ ในปัจจุบันและเบื้องหน้า

๑๒๓ . เอ้า ต่อไปจะไม่อธิบายอะไรล่ะ ต่างคนต่างฟังใจของเรา ดูให้มันแน่นอนลงไปเชื่อมั่นลงไป ให้มันได้หลักได้ฐานของตน ได้ที่พึ่งของตนเอง

๑๒๔ . เมื่อเหล่าท่านทั้งหลายได้พากันสดับตรับฟังแล้ว ในโอวาทศาสนีย์ธรรมะคำสั่งสอนนี้ ซึ่งแสดงโดยย่นย่อพอเป็นเครื่องปฏิบัติ ประดับสติปัญญาบารมีของท่านทั้งหลาย ให้พากันโยนิโสมนสิการ กำหนดจดจำ นำไปประพฤติปฏิบัติฝึกหัดตนของตน ให้เป็นไปในศีล เป็นไปในธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว แต่นี้ต่อไป พวกท่านทั้งหลายจะประสบแต่ความสุข ความเจริญงอกงาม ดังได้แสดงมา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

ได้เรื่องเหตุทำเหรียญปลอม

   วันหนึ่งท่านพิจารณาปรากฏว่าดวงใจของท่านนั้นร้อนเหมือนกับไฟ ท่านพิจารณาเท่าใรๆ ก็ไม่สงบลง เป็นเวลา ๓ – ๔ ชั่วโมง จึงเห็นสิ่งหนึ่งเหมือนเกล็ดหอย ไม่รู้ว่าอะไร ดูไปดูมาก็เห็นเป็นเหรียญท่าน เลยเกิดความรู้ขึ้นว่า “ ถ้าใครทำเหรียญของเราปลอมคนนั้นจะฉิบหาย ” พอรู้ว่าเป็นเรื่องเหรียญปลอม จิตของท่านก็สงบเย็นลงเป็นปรกติ วันรุ่งขึ้นท่านก็นำมาเล่าให้พระเณรฟังว่า “ ถ้าใครทำเหรียญของเราปลอม อย่าไปเอาเป็นอันขาด ถ้าใครทำใครเอา คนนั้นแหละจะฉิบหาย ” เรื่องนี้หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านเล่าให้พระเณรฟังในพรรษา ปี พ.ศ.๒๕๑๗ ที่กุฏิของท่าน ณ วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร

คัดลอกจาก www.wataz.org

Facebook

Copyright © 2560 คณะสงฆ์ธรรมยุตในประเทศสหรัฐอเมริกา THE DHAMMAYUT ORDER IN THE UNITED STATES OF AMERICA.